วันจันทร์, ธันวาคม 18, 2549

บทเรียนเรื่องหุ้นจากเจมส์บอนด์

MIF Lab : ดร.อาณัติ ลีมัคเดช
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมมีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่องเจมส์บอนด์ตอนล่าสุดมาครับ ซึ่งต้องชมผู้สร้างที่สามารถสร้างมาได้ถึง 21 ตอนแล้ว ทั้งๆ ที่คนเขียนนิยายคือคุณเอียน เฟลมมิ่ง แกยังเขียนไม่ถึงเลยครับ
ตอนล่าสุดนี้ก็เลยต้องเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่คือตอน Casino Royale ที่คุณลุง Sean Connery แกเล่นไว้ในฐานะเจมส์บอนด์รุ่น 1


เสน่ห์ของผู้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเขาจะใส่มุขที่ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปจากยุคที่เอียน เฟลมมิ่งเขียนไว้ตลอดเวลา เช่นผู้ร้ายในภาคหลังๆ กลายเป็นเกาหลีเหนือ หรือเจ้าพ่อมีเดีย ซึ่งในยุคของเอียน เฟลมมิ่ง เขาคงคิดไม่ออกเหมือนกันว่าเกาหลีเหนือนี่จะกลายมาเป็นคู่ปรับของมหาอำนาจได้อย่างไร
เจมส์บอนด์ ตอนนี้ก็เช่นกัน คู่ปรับของบอนด์ตอนนี้คือนายธนาคารครับ ตาหัวหน้าใหญ่คือ มิสเตอร์ไวท์ นี่ก็ท่าทางเหมือนคุณลุงนายแบงก์ทั่วไปที่เราเห็น แต่มุมมองของผู้สร้างหนัง เขาคงคิดว่านี่ละร้ายสุดในยุคนี้แล้วก็ได้

ตาลุงคนนี้แกทำงานในองค์กรลับ (ซึ่งอาจเป็นบริษัทตั้งอยู่ที่เกาะสักแห่งที่อนุญาตให้ทำ Offshore Banking) และทำหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า VIP ซึ่งได้แก่บรรดาผู้ก่อการร้าย คณะปฏิวัติทั้งหลายแหล่ โดยแกได้ Outsource งานจัดการกองทุนให้กับผู้ร้ายอีกคนหนึ่งนามว่าเลอชีฟร์ ผู้มีภรรยาหุ่นดี ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะสวยด้วย แต่ผู้ชมจะไม่ใคร่สังเกตหน้าเธอนัก เพราะเธอมักจะโผล่มาด้วยเครื่องแต่งกายอันชวนให้หันไปพิจารณาส่วนอื่นที่ไม่ใช่หน้า

หนังแนะนำตัวผู้ร้ายโดยตัดฉากมาที่ค่ายผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งถ้าปฏิวัติสำเร็จ จะกลายเป็นผู้ก่อการดี) มิสเตอร์ไวท์ได้แนะนำตาเลอชีฟร์ให้หัวหน้าผู้ก่อการร้ายรู้จัก และมอบเงินดอลลาร์หลายกระเป๋าให้ตาเลอชีฟร์ดูแล ความต้องการของหัวหน้าผู้ก่อการร้ายคือแกต้องการเพียงแค่ให้ดูแลเงินแกโดยเอาไปลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง เช่นซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพราะแกย้ำหนักหนาว่าอย่าเอาไปเล่นหุ้น พร้อมทำท่าโหดๆ คล้ายส่งซิกว่า “ถ้าแกทำเงินฉันสูญ เป็นโดนเชือด”

แต่วัตถุประสงค์สำคัญคือให้ตาเลอชีฟร์อำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินของแกได้ทั่วโลกมากกว่าเน้นผลตอบแทน ซึ่งพวกผู้ก่อการร้ายนี่ก็ต้องใช้เงินซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้เหมือนกัน จึงต้องใช้บริการผ่านนายแบงก์พวกนี้ ที่ไหนได้ พอตาเลอชีฟร์รับเงินมาปั๊บก็ใช้โทรศัพท์ผ่านดาวเทียมโทรหาโบรกเกอร์ของแกให้ Short หุ้นบริษัทผลิตเครื่องบินแห่งหนึ่งในอเมริกาทันทีเลย ถึงจุดนี้ขออธิบายท่านผู้อ่านก่อนครับว่าการ Short หุ้นนั้น คือการขายหุ้นโดยที่เราไม่มีหุ้นในมือ โบรกเกอร์ของเราจะยืมหุ้นมาให้เราขายก่อนที่ราคาตลาดขณะนั้น โดยเรามีสัญญาว่าต้องไปซื้อหุ้นมาใช้ภายในกำหนดพร้อมค่าธรรมเนียม
คนที่ทำธุรกรรมแบบนี้ คือนักเก็งกำไรที่คาดว่าหุ้นที่ตนเอง Short นั้นจะตกลงในอนาคตอันใกล้ เมื่อถึงเวลาหุ้นตกจริงก็จะเข้าไปซื้อหุ้นที่ราคาตกแล้วมาคืน กินส่วนต่างจากราคาสูงตอนที่ Short และราคาต่ำตอนที่ซื้อคืนเป็นกำไรสบายแฮ แต่ถ้าหุ้นไม่ตก แถมขึ้นต่อก็ซวยไป ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เราอนุญาตให้นักลงทุน Short หุ้นได้แล้วนะครับ ใครสนใจดูรายละเอียดที่เวบไซต์ตลาดหลักทรัพย์
โบรกเกอร์ที่รับสายพยายามบอกว่าหุ้นที่ตาเลอชีฟร์สั่ง Short นั้นกำลังอยู่ในขาขึ้น แต่ถูกดุว่าไปทำตามที่สั่ง อย่าเจ๋อ จึงเงียบไป

ปรากฏว่าแผนของตาเลอชีฟร์นี่ซับซ้อนมาก กล่าวคือแกได้ Outsource งานชิ้นหนึ่งให้แก่ผู้ร้ายอีกคนให้ไปจัดหามือระเบิดเพื่อไปวางระเบิดเครื่องบินของบริษัทที่แก Short หุ้นไว้ บริษัทนี้กำลังจะเปิดตัวเครื่องบินซูเปอร์จัมโบ้รุ่นใหม่ที่สนามบินไมอามี ซึ่งตานี่ก็ได้ไป Outsource งานต่อให้กับมือระเบิด
เจ้ามือระเบิดคนแรกซึ่งมีฝีมือพอฟัดพอเหวี่ยงกับ จา พนม ถูกเจมส์บอนด์ตามล่าในตอนเปิดเรื่อง โดยเจมส์บอนด์ได้สั่งลูกน้องว่าต้องจับเป็นเพื่อเอามารีดหาผู้บงการ แต่พอลูกน้องพลาด เจมส์บอนด์จึงต้องแสดงฝีมือ “จับเป็น” ด้วยการขับรถแทรกเตอร์ไล่พังไซต์ก่อสร้าง ใช้ร่างเจ้ามือระเบิดเป็นโล่กันกระสุนให้ หรือใช้เป็นที่เปิดหน้าต่าง กล่าวคือเวลาแกจะหนีโดดหน้าต่างลงมา แกจะทุ่มเจ้านี่เปิดทางไปก่อนแล้วค่อยกระโดดตามลงไป (คงจะเห็นว่ามันอึดดี ไม่น่าตายง่ายๆ)

จุดนี้ผู้ชมไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะดูบทบู๊ดุเดือดเหลือเกิน เสี่ยเจียงน่าจะไปจ้างเจ้านี่มาเป็นคู่ปรับ จา พนม คราวหน้านะครับ พอทำท่าว่าจะจับเป็นเจ้านี่ไม่ได้เสียแล้ว เจมส์บอนด์เลยต้องวิสามัญฆาตกรรมมันในสถานทูต เดือดร้อนให้พวกผู้ร้ายต้องไปหามือระเบิดรับจ้างคนใหม่ ซึ่งเจมส์บอนด์ได้ไล่ล่าในสนามบินไมอามี จนสามารถยุติแผนการวางระเบิดเครื่องบินได้

ถึงตอนนี้ ผู้ชมถึงได้บางอ้อว่าตาเลอชีฟร์แกจ้างพวกมือระเบิดมาหลังจากแก Short หุ้นบริษัทเครื่องบิน เพื่อให้ราคาหุ้นบริษัทเครื่องบินตกลงนั่นเองหากระเบิดเครื่องบินได้สำเร็จ แกจะได้ไปช้อนซื้อถูกๆ มาคืน ฟาดกำไรอื้อจากเงินลงทุนของผู้ก่อการร้าย หนังพยายามสร้างสมมติฐานไปอธิบายเหตุการณ์ 11 กันยา ด้วยว่าก่อนที่เครื่องบินจะถูกจี้ไปชนตึกเวิลด์เทรด มีมือมืด Short หุ้นสายการบินไว้อื้อเหมือนกัน
แม้การ Short หุ้นจะถูกกฎหมาย แต่การสร้างราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายในทุกประเทศ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่อธิบายพฤติกรรมนี้ครับ สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษา ผมขอแนะนำงานวิจัยของ Allen and Gale เรื่อง “Stock Price Manipulation” ซึ่งตีพิมพ์ใน Review of Financial Studies ตั้งแต่ปี 1992 ในบทความนี้ทั้งคู่ได้จำแนกประเภทการสร้างราคาหุ้นเป็น 3 ประเภท

หนึ่ง Action-based เป็นการสร้างราคาหุ้น โดยพวกผู้ร้ายมีการดำเนินการประกอบด้วย เช่นผู้บริหารบริษัท Short หุ้นไว้ แล้วหาเรื่องประกอบการให้ขาดทุน พอหุ้นตกก็เข้ามาซื้อคืน แล้วปรับการบริหารมาเป็นปกติ เหตุการณ์ในเจมส์บอนด์เข้าข่ายนี้ แม้จะไม่ใช่ผู้บริหารเป็นคนทำก็ตาม
สอง Information-based อันนี้เป็นยุทธการปล่อยข่าวลือ ทั้งด้านบวกหรือลบ แล้วแต่ว่าต้องการให้ราคาหุ้นเปลี่ยนไปทางใด
สาม Trade-based เป็นการสร้างราคาโดยขาใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้บริหาร แต่อาศัยว่ามีทุนมาก สามารถใช้วอลุ่มการซื้อขายหุ้นของตนกำหนดให้ราคาเปลี่ยนไปในทางที่ต้องการได้ งานวิจัยของ Allen and Gale เน้นอธิบายการสร้างราคาหุ้นประเภทนี้ ซึ่งผมมีลางสังหรณ์ว่าไทยเรามีการสร้างราคาหุ้นประเภทนี้มากที่สุด แต่จับมือใครดมไม่ได้ หากผู้เกี่ยวข้องกับการจับผู้ร้ายได้อ่านงานวิจัยนี้แล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะเกิดไอเดียในการหาหลักฐานมาจับผิดพวกผู้ร้ายได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: